เนื้อหาภายใน
หน้าแรก
คำนำ
พระบรมสารีริกธาตุ
  ความหมาย
  ประเภท
  คุณลักษณะ
  ลักษณะต่างๆ
  พระธาตุลอยน้ำ
ตำนานการเกิด
  ตำนานการเกิด
  สถานที่ประดิษฐาน
  พระอดีตพุทธเจ้า
  ธาตุปรินิพพาน
พุทธเจดีย์
  พุทธเจดีย์
  บุคคลที่ควรสร้างสถูป
  เจดีย์ประจำนักษัตร
พระธาตุพุทธสาวก
  พระธาตุพุทธสาวก
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
บูชาพระธาตุ
  บูชาพระธาตุ
  อัญเชิญพระธาตุ
  บทบูชาพระธาตุ
  สรงน้ำพระธาตุ
  ในพุทธดำรัส และพระสาวก
  ในเทวดาและเปรต
พระธาตุปาฏิหาริย์
  พระธาตุปาฏิหาริย์
  ลักษณะการเกิด
  ประสบการณ์พระธาตุ
ภาพถ่ายพระธาตุ
  พระบรมธาตุ 1
พระบรมธาตุ 2
พระบรมธาตุ 3
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
  วิธีถ่ายภาพพระธาตุ
บทความเกี่ยวกับพระธาตุ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุ
กระดานข่าวสนทนา
บรรณานุกรม
บอกกล่าว
ภาพถ่ายพระธาตุ <<< กลับไปหน้านามพระสาวกสมัยกึ่งพุทธกาล

พระพุทธสาวกธาตุสมัยกึ่งพุทธกาล**

หลวงตาประสิทธิ์ ถาวโร
วัดถ้ำยายปริก อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงตามีนามเดิมว่า ประสิทธิ์ คำประเสริฐ เกิดวันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ.2466 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ณ บ้านคอน อ.มโนไพร แขวงนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เป็นบุตรคนเดียวของนายทอง และนางทองจันทร์ คำประเสริฐ ครอบครัวมีอาชีพค้าขายและตัดเย็บเสื้อผ้า

ต่อมาโยมบิดาของหลวงตาได้แยกทางกับโยมมารดา ภายหลังโยมบิดาจึงรับไปอยู่ด้วย แต่ไม่นานบิดาของหลวงตาก็ถึงแก่กรรม ปู่จึงรับหลวงตาไปอยู่ที่วัดเหนือ บ้านคอน โดยเริ่มเป็นเด็กวัดตอนอายุย่าง 15 ปี ต่อมาจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร 1 ปี ไม่นานมารดาก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรม พออายุได้ 18 ปี ท่านได้มาเรียนนักธรรมตรีที่ อ.มโนไพร มุ่งหน้าศึกษา พอสอบเสร็จท่านเลยเดินทางไปดูผลสอบและเรียนต่อที่ จ.อุบลราชธานี

ในปี พ.ศ.2485 หลวงตาได้สึกและออกไปทำงานที่บ้านนายอำเภอศิริ ศิริแพทย์ ขณะนั้นท่านเป็นนายอำเภอที่ จ.บุรีรัมย์ หลวงตาทำหน้าที่อย่างขันแข็งและซื่อสัตย์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2489 นายอำเภอได้ย้ายไปทำงานที่ จ.ระยอง และได้บรรจุหลวงตาเป็นเสมียนปกครอง พนักงานสอบสวนวิสามัญ ซึ่งช่วงนี้ท่านได้อกหักจากความรัก จึงขอนายอำเภอย้ายไปทำงานที่ จ.ชลบุรี รับราชการอยู่ 3 ปีจึงลาออก

ท่านได้เข้าทำงานที่โรงงานใน จ.ชลบุรี และมีครอบครัวกับนางประไพ ซึ่งมีบุตรมาติดมา 1 คน และท่านได้เปลี่ยนอาชีพมาทำนา มีฐานะยากจน ท่านจึงต้องย้ายที่อยู่เพื่อหาที่ทำกินไปหลายที่ ทั้งทำนาและปลูกอ้อย แต่พอเริ่มจะตั้งตัวได้ก็มีเหตุอันจะต้องเสียทรัพย์ เช่น ถูกขโมย ไฟไหม้ ราคาผลผลิตตกต่ำ ขณะนั้นหลวงตามีบุตร 5 คน บุตรคนที่ 4 เริ่มป่วยพาไปรักษา กู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ภายหลังท่านก็เริ่มหาหนทางด้วยการค้าขาย ประกอบกับราคาน้ำตาลขึ้น ท่านจึงหาเงินใช้หนี้ได้หมด

ท่านจึงเปลี่ยนอาชีพมาค้าขายและทำห้องแถว มีวันหนึ่งท่านตักเตือนลูกเลี้ยงที่เริ่มโตเป็นสาว เรื่องการคบหาคนจากร้านคู่แข่ง ว่าอย่าคุยในที่ลับตาหรือหลังร้าน จะคุยให้คุยหน้าร้าน จะได้ช่วยขายของด้วย ลูกเลี้ยงไม่พอใจจึงไปฟ้องนางประไพและบอกกับพ่อจริงๆ ไม่นานก็มีคนมาบอกกับท่านที่ร้านว่า "อย่าอยู่เลย ให้ไปซะ" แต่ท่านไม่สนใจ ด้วยคิดว่าก็นี่บ้านท่าน จะให้ท่านไปไหน ผ่านไป 2-3 วัน ท่านจึงไปหาแม่ยาย สอบถามเรื่องการตักเตือนลูกเลี้ยง และพาแม่ยายกลับมาบ้านด้วย ถัดมาอีก 1-2 วัน ท่านไม่ปรกติ นางประไพจึงสั่งให้หลวงตาไปนอนที่วัด พอท่านบอกไม่ยอมไปเท่านั้น แม่ยายก็ออกไปทางหลังร้าน ตามคนที่มาขู่มา ท่านเลยเข้าใจว่าจะมีการดักยิงท่านแน่ๆ พอตกกลางคืนท่านก็เครียดและวิตก คิดไปคิดมาคว้ามีดปลายแหลมแทงนางประไพจนตาย และได้มอบตัวถูกศาลตัดสิน จำคุก 12 ปี

ระหว่างถูกจำคุก ท่านได้ฝึกกสิณโดยการเพ่งหลอดไฟ เพ่งอะไรไปเรื่อย ภายหลังเกิดสติวิปลาส และมีเรื่องกับผู้คุม จึงถูกย้ายไปขังแดน 2 ได้เดือนเศษ พิจารณาไปมาจึงได้รู้ว่าตนเองเสียสติ เมื่อเวลาผ่านไปผู้คุมมาสอบอารมณ์เห็นว่าดีขึ้น จึงย้ายท่านออกมาอยู่ห้องขังซอย บังเอิญเพื่อนนักโทษด้วยกันเป็นธรรมศึกษาเอก ทราบว่าหลวงตาเจริญกรรมฐานวิปลาส จึงมาแนะนำการปฏิบัติกรรมฐานด้วยอาณาปานสติให้ ซึ่งได้ผลดีกับหลวงตาเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังท่านได้เป็นครูสอนธรรมศึกษาตรีในคุกนั้นเอง และได้รับการอภัยโทษ รวมติดคุก 7 ปี

หลวงตาย้ายกลับมาทำงานในโรงงานที่ชลบุรี ระหว่างนั้นท่านก็ทำบุญตักบาตรทุกวันไม่ขาด ทำอยู่ได้ 2 เดือน โรงงานก็ปิด 1 เดือน ท่านจึงได้ลาพักงาน ถือโอกาสบวช โดยมีชาวบ้านที่เคยอยู่ใกล้กันรับเป็นโยมอุปัฏฐากให้

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

หลวงตาได้อุปสมบทขณะมีอายุได้ 46 ปี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2512 ณ วัดนิมมานราษฎร์บำรุง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีพระครูพิบูลสังฆกิจ(ประยูร ปิยธโร) เจ้าคณะตำบลคลองกิ่วเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสวิน อินทวังโส วัดศรีอรุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสมาน รตินธโร วัดนิมมานราษฎร์บำรุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาท่านพิจารณาถามตัวเองว่าบวชเพื่ออะไร ท่านตอบตัวเองว่า เพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบางถึงที่สุดแห่งทุกข์ ย้อนมองดูอดีตที่ผ่านไป ถ้ากลับไปมันก็เป็นแบบนั้นอีก มองไปข้างหน้าก็ว่างเปล่า ท่านจึงจุดธูปเทียนอธิษฐานต่อหน้าพระประธานว่า เราจะปฏิบัติธรรมเพื่อหาทางพ้นจากกองทุกข์ วันรุ่งขึ้นจึงตัดสินใจไปลาออกจากโรงงาน

ท่านได้ฝึกสมาธิภาวนา ศึกษาอยู่ที่วัดนิมมานราษฎร์บำรุง ได้ผลต่างๆ จึงเกิดความสงสัยอารมณ์นี้ว่าถูกผิดอย่างไร ซึ่งมีผู้แนะให้ไปสอบอารมณ์ที่สำนักของอาจารย์บุญมี เมธางกูร สาขาของวัดพระเชตุพนฯ เมื่อสอบเสร็จอาจารย์บุญมีพูดคำเดียวว่า พระ แล้วก็ข้ามไปสอบคนอื่นต่อไป ต่อมาท่านได้ออกจาริกวิเวก ได้พบกับหลวงพ่อม่น วัดเนินตามาก และหลวงพ่อเอื้อน จ.นครสวรรค์ ที่ถ้ำจักรพงษ์ ที่เกาะสีชัง ภายหลังท่านก็ได้ย้ายไปจำพรรษาที่ต่างๆ และได้จาริกไปอิสานและเหนือ

ถึงแม้หลวงตาจะออกธุดงค์แสวงหาความวิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ แต่ท่านก็มักจะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำยายปริกเสมอๆ โดยมีหญิงชราในนิมิตเป็นผู้อาราธนาให้ท่านมาจำพรรษาที่นี่ ตั้งแต่พรรษาที่ 2 เมื่อท่านขึ้นมาดูแล้ว พบว่าที่บริเวณถ้ำยายปริก เป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรมท่านจึงมักจะมาจำพรรษาที่นี่เป็นหลัก ยกเว้นบางปีที่ท่านไปจำพรรษาที่อื่น หลวงตาได้เปิดอบรม ปฏิบัติภาวนา แก้ไขข้อข้องใจในการปฏิบัติแก่ผู้สนใจที่วัดถ้ำยายปริก จนกระทั่งท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2550 สิริรวมอายุ 84 ปี พรรษาที่ 38

ธรรมโอวาท
๑. "หลวงพ่อจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ถ้าเอ็งอยากจะไปอยู่กับหลวงพ่อ อยู่กับพระพุทธเจ้า ก็ทำลาย"ความรู้สึก"ให้หมดเสีย ใช้ "สติ" นั่นแหละ กอปรกับความเพียรไม่ท้อถอย สักวันหนึ่งเอ็งจะค้นพบความจริง ก็ไปอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย เท่านั้นเองหรอก"

๒. "ทางโลกน่ะยึดมั่นถือมั่น เหนื่อยเปล่า ก็ปล่อยเขาไปเถิด"

๓. "ฉะนั้นไม่ว่าพระไม่ว่าชี หรืออุบาสกอุบาสิกา ต้องหมั่นเจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้แน่นแฟ้น ครั้นเจตสิกดับ หมดความปรุงแต่งในผัสสะด้วยเห็นความจริงในการเกิดดับของทุกสภาวะ จึงสำรอกราคะและโทสะ และเห็นรูปนามเป็นอารมณ์โดยอัตโนมัติทุกขณะไป แค่นี้ก็ไปอยู่สุทธาวาสแล้ว ไม่ต้องมาแบกหามสภาวะความเป็นมนุษย์ให้วุ่นวายอย่างนี้อีก และเมื่อเจริญต่อไป จนเห็นพิษภัยของรูปนามทั้งหมด จึงปล่อยวางรูปนาม ก็เข้าถึงความว่างที่แท้จริง เป็นอนัตตา และมหาสุญญตา ก็หมดเรื่องหมดราว มีอยู่แค่นั้นเอง”

ภาพพระธาตุ

แหล่งข้อมูล-ภาพประกอบ: เรียบเรียงและย่อความจาก หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร. 2547. ประวัติหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร. พิมพ์ครั้งที่ 2. ระยองกันเอง, ระยอง.; http://www.wat-thamyaiprik.com

<<< back

พระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุพระพุทธสาวก
พุทธบูชา 2542 - 2553 @ http://www.relicsofbuddha.com