เนื้อหาภายใน
หน้าแรก
คำนำ
พระบรมสารีริกธาตุ
  ความหมาย
  ประเภท
  คุณลักษณะ
  ลักษณะต่างๆ
  พระธาตุลอยน้ำ
ตำนานการเกิด
  ตำนานการเกิด
  สถานที่ประดิษฐาน
  พระอดีตพุทธเจ้า
  ธาตุปรินิพพาน
พุทธเจดีย์
  พุทธเจดีย์
  บุคคลที่ควรสร้างสถูป
  เจดีย์ประจำนักษัตร
พระธาตุพุทธสาวก
  พระธาตุพุทธสาวก
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
บูชาพระธาตุ
  บูชาพระธาตุ
  อัญเชิญพระธาตุ
  บทบูชาพระธาตุ
  สรงน้ำพระธาตุ
  ในพุทธดำรัส และพระสาวก
  ในเทวดาและเปรต
พระธาตุปาฏิหาริย์
  พระธาตุปาฏิหาริย์
  ลักษณะการเกิด
  ประสบการณ์พระธาตุ
ภาพถ่ายพระธาตุ
  พระบรมธาตุ 1
พระบรมธาตุ 2
พระบรมธาตุ 3
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
  วิธีถ่ายภาพพระธาตุ
บทความเกี่ยวกับพระธาตุ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุ
กระดานข่าวสนทนา
บรรณานุกรม
บอกกล่าว

Quick link : พระบรมสารีริกธาตุพระอดีตพุทธเจ้า | สถานที่ประดิษฐาน

พระบรมสารีริกธาตุของพระอดีตพุทธเจ้า

ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ในพระสุตตันตปิฎก กล่าวว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าไว้ 25 พระองค์ นับตั้งแต่พระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมา โดยในช่วงท้ายของพระพุทธประวัติแต่ละพระองค์ กล่าวถึงลักษณะการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายหลังพุทธปรินิพพาน เป็น 2 ลักษณะ คือ บางพระองค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้รวมกัน ณ ที่แห่งเดียว หรือ บางพระองค์พระบรมสารีริกธาตุกระจายไปประดิษฐานยังสถานที่ต่าง ๆ เพียงเท่านี้

จากการสืบค้นเพิ่มเติมใน อุปวานเถราปทาน ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 (ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย) และ อรรถกถา (วิสุทธชนวิลาสินี) มีการกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระปทุมุตรพุทธเจ้า ว่ามีลักษณะรวมกันเป็นก้อนเดียว มหาชนจึงสร้างพระสถูปประดิษฐานไว้ในที่แห่งเดียว แต่ในขณะที่ คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รจนาโดย พระพุทธทัตตะเถระ) กล่าวต่างออกไป ว่าพระบรมสารีริกธาตุของพระปทุมุตรพุทธเจ้ามีลักษณะกระจัดกระจาย แต่มหาชนร่วมกันสร้างสถูปประดิษฐานไว้ในสถานที่แห่งเดียว ส่วนพระบรมสารีริกธาตุของ พระโกณฑัญญพุทธเจ้า และ พระสิขีพุทธเจ้า กล่าวว่ามีีลักษณะดำรงอยู่เป็นแท่งแท่งเดียว ดังรูปปฏิมาทอง

รายพระนามพระพุทธเจ้า พระชนมายุ และลักษณะการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ลำดับที่ พระนาม พระชนมายุ ลักษณะการประดิษฐานพระบรมธาตุ
1 พระทีปังกรพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 36 โยชน์ ประดิษฐาน ณ นันทาราม
2 พระโกณฑัญญพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 7 โยชน์ ประดิษฐาน ณ นันทาราม
3 พระมังคลพุทธเจ้า 90,000 ปี พระสถูปสูง 30 โยชน์ ประดิษฐาน ณ พระราชอุทยานเวสสระ
4 พระสุมนพุทธเจ้า 90,000 ปี พระสถูปสูง 4 โยชน์ ประดิษฐาน ณ อังคาราม
5 พระเรวตพุทธเจ้า 60,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
6 พระโสภิตพุทธเจ้า 90,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป 
7 พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 20 โยชน์ ประดิษฐาน ณ ธรรมาราม
8 พระปทุมพุทธเจ้า 100,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป 
9 พระนารทพุทธเจ้า 90,000 ปี พระสถูปสูง 4 โยชน์ ประดิษฐาน ณ สุทัสนนคร
10 พระปทุมุตรพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 12 โยชน์ ประดิษฐาน ณ นันทาราม
11 พระสุเมธพุทธเจ้า 90,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
12 พระสุชาตพุทธเจ้า 90,000 ปี พระสถูปสูง 3 คาวุต ประดิษฐาน ณ เสลาราม
13 พระปิยทัสสีพุทธเจ้า 90,000 ปี พระสถูปสูง 3 โยชน์ ประดิษฐาน ณ อัสสัตถาราม
14 พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า 100,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
15 พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 3 โยชน์ ไม่กล่าวถึงสถานที่ประดิษฐาน
16 พระสิทธัตถพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 4 โยชน์ ประดิษฐาน ณ อโนมาราม
17 พระติสสพุทธเจ้า 100,000 ปี พระสถูปสูง 3 โยชน์ ประดิษฐาน ณ นันทาราม
18 พระปุสสพุทธเจ้า 90,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
19 พระวิปัสสีพุทธเจ้า 80,000 ปี พระสถูปสูง 7 โยชน์ ประดิษฐาน ณ สุมิตตาราม
20 พระสิขีพุทธเจ้า 70,000 ปี พระสถูปสูง 3 โยชน์ ประดิษฐาน ณ อัสสาราม
21 พระเวสสภูพุทธเจ้า 60,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
22 พระกกุสันธพุทธเจ้า 40,000 ปี พระสถูปสูง 1 คาวุต ประดิษฐาน ณ เขมาราม
23 พระโกนาคมนพุทธเจ้า 30,000 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
24 พระกัสสปพุทธเจ้า 20,000 ปี พระสถูปสูง 1 โยชน์ ประดิษฐาน ณ เสตัพยาราม
25 พระโคตมพุทธเจ้า 100 ปี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กระจายไป
สรุปจาก: พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายพุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์

ตำนานธาตุปรินิพพาน

คัมภีร์อรรถกถาหลายเล่ม ได้แก่ สุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี มโนรถปูรณี และ สัมโมหวิโนทนี ปรากฏตำนานที่เล่าขานสืบมาแต่ครั้งโบราณว่า การปรินิพพานจะปรากฏด้วยกัน 3 ครั้ง ครั้งแรกคือ กิเลสปรินิพพาน ปรากฏ ณ โพธิบัลลังก์เมื่อครั้งตรัสรู้ ครั้งที่ 2 คือ ขันธปรินิพพาน ปรากฏ ณ เมืองกุสินารา และครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ธาตุปรินิพพาน เนื้อหาโดยรวมในแต่ละคัมภีร์มีความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันเพียงรายละเอียดเล็กน้อย ดังนี้

กล่าวกันว่า เมื่อถึงเวลาที่พระศาสนาเสื่อมถอยลง พระบรมสารีริกธาตุทุกพระองค์ไม่ว่าจะประดิษฐานอยู่ที่ใดก็ตาม จะเสด็จไปประชุมกันยังเกาะลังกา แล้วจึงเสด็จไปยังมหาเจดีย์ (กล่าวกันว่า พระมหาเจดีย์องค์นี้ คือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์) จากมหาเจดีย์เสด็จต่อไปยังราชายตนเจดีย์ในนาคทวีป จากนั้นจึงเสด็จต่อไปยังมหาโพธิ์บัลลังก์สถานที่ตรัสรู้ (พุทธคยา)

ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวต่อไปว่า องค์พระบรมสารีริกธาตุที่เคยประดิษฐานยังนาคพิภพ เทวโลก และ พรหมโลก เมื่อเสด็จไปรวมกันยังมหาโพธิบัลลังก์ที่ตรัสรู้ ก็รวมกันเป็นแท่งเดียวกันดุจแท่งทองคำหรือกองทองคำ เปล่งพระฉัพพรรณรังสี ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ

ยกเว้นแต่คัมภีร์มโนรถปูรณี ที่กล่าวต่างไปว่า พระบรมสารีริกธาตุที่มาประชุมกัน จะแสดงเป็นองค์พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ พระสรีระครบถ้วนด้วยมหาปุริสลักษณะและอนุพยัญชนะ จากนั้นจึงกระทำยมกปาฏิหาริย์แสดง

ในตำนานกล่าวไว้ว่า ไม่มีมนุษย์คนใดเข้าไปในสถานที่แห่งนั้น แต่เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาฬจะมาประชุมกันทั้งหมด คร่ำครวญว่า พระศาสดาจะปรินิพพานวันนี้ พระศาสนาจะเสื่อมถอย การเห็นของพวกเรานี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดพระศาสนา เตโชธาตุลุงโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ เปลวเพลิงพวยพุ่งไปถึงพรหมโลก และดับลงเมื่อพระบรมสารีริกธาตุหมดสิ้นไปไม่เหลือแม้เท่าเมล็ดผักกาด หลังจากนั้นหมู่เทพทำการสักการะด้วยของหอม ดอกไม้และดนตรีทิพย์ ดังเช่นในวันปรินิพพาน กระทำประทักษิณ 3 รอบ ถวายบังคม แล้วจึงกลับสู่วิมานของตน

** ตำนานนี้ปรากฏในคำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุของโบราณด้วยเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่การกล่าวเพิ่มเติมว่า องค์พระบรมสารีริกธาตุที่ประชุมกันขึ้นเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงตรัสพระธรรมเทศนาอีกเจ็ดวันก่อนสิ้นอายุพระศาสนา ซึ่งไม่ปรากฏความนี้ในอรรถกถาฉบับใดเลย

next>>>

พระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุพระพุทธสาวก
พุทธบูชา 2542 - 2554 @ http://www.relicsofbuddha.com