เนื้อหาภายใน
หน้าแรก
คำนำ
พระบรมสารีริกธาตุ
  ความหมาย
  ประเภท
  คุณลักษณะ
  ลักษณะต่างๆ
  พระธาตุลอยน้ำ
ตำนานการเกิด
  ตำนานการเกิด
  สถานที่ประดิษฐาน
  พระอดีตพุทธเจ้า
  ธาตุปรินิพพาน
พุทธเจดีย์
  พุทธเจดีย์
  บุคคลที่ควรสร้างสถูป
  เจดีย์ประจำนักษัตร
พระธาตุพุทธสาวก
  พระธาตุพุทธสาวก
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
บูชาพระธาตุ
  บูชาพระธาตุ
  อัญเชิญพระธาตุ
  บทบูชาพระธาตุ
  สรงน้ำพระธาตุ
  ในพุทธดำรัส และพระสาวก
  ในเทวดาและเปรต
พระธาตุปาฏิหาริย์
  พระธาตุปาฏิหาริย์
  ลักษณะการเกิด
  ประสบการณ์พระธาตุ
ภาพถ่ายพระธาตุ
  พระบรมธาตุ 1
พระบรมธาตุ 2
พระบรมธาตุ 3
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
  วิธีถ่ายภาพพระธาตุ
บทความเกี่ยวกับพระธาตุ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุ
กระดานข่าวสนทนา
บรรณานุกรม
บอกกล่าว

Quick link : อานิสงส์การบูชาพระสถูปหรือพระธาตุ ใน พุทธดำรัสและพระอรหันตสาวก | เทวดาและเปรต

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระอานนท์: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตอย่างไร ฯ
พระพุทธเจ้า: ดูกรอานนท์ พวกเธอจงอย่าขวนขวายเพื่อบูชาสรีระตถาคตเลย จงสืบต่อพยายามในประโยชน์ของตนๆ เถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของตนๆ มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ผู้เลื่อมใสยิ่งในตถาคตมีอยู่ เขาทั้งหลายจักกระทำการบูชาสรีระตถาคต ฯ

- มหาปรินิพพานสูตร -

พึงสร้างสถูปของตถาคตไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือจุณ จักอภิวาท หรือจักยังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ

- มหาปรินิพพานสูตร -

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปธาน ภาค 1

ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๕ (๑๕)
ว่าด้วยผลแห่งการไล้ทาของหอม

[๑๗] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสุเมธ เป็นบุคคลผู้เลิศ นิพพานแล้ว เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ทำการบูชาพระสถูปในสมาคมนั้น มีพระขีณาสพผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิมากเท่าใด เรานิมนต์พระขีณาสพเหล่านั้น มาประชุมกันในสมาคมนั้นแล้ว ได้ทำสังฆภัตถวาย เวลานั้น มีภิกษุอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธ ท่านมีนามชื่อว่าสุเมธ ได้อนุโมทนาในเวลานั้น

ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้เข้าถึงวิมาน นางอัปสรแปดหมื่นหกพันได้มีแก่เรา นางอัปสรเหล่านั้น ย่อมอนุวัตตามความประสงค์ทุกอย่างของเราเสมอ เราย่อมครอบงำเทวดาเหล่าอื่น นี้เป็นผลแห่งบุญกรรมในกัลปที่ ๒๕ เราเป็นกษัตริย์ พระนามว่าวรุณ ในกาลนั้นเราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยโภชนะอันขาวผ่อง ชนเหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถไปไถ มนุษย์ทั้งหลายย่อมบริโภคข้าวสาลีอันเกิดเองสุกเองในที่ไม่ได้ไถ

เราเสวยราชสมบัติในภพนั้นแล้ว ได้ถึงความเป็นเทวดาอีก ถึงเวลานั้น โภคสมบัติเช่นนี้ก็บังเกิดแก่เรา สัตว์ทั้งปวงซึ่งเป็นมิตร หรือมิใช่มิตร ย่อมไม่เบียดเบียนเรา เราเป็นที่รักของสัตว์ทุกจำพวก นี้เป็นผลแห่งกรรม ในกัลปที่ ๓ หมื่น เราได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยการให้ทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการไล้ทาด้วยของหอม

ในภัทกัปนี้ เราผู้เดียวได้เป็นอธิบดีของคนได้เป็นราชฤาษีผู้มีอานุภาพมาก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพลมาก เรานั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ ได้ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ถึงสุคติ ได้เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๕ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วฉะนี้แล.

ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ปิลินทวัจฉเถราปทาน.


อุปวาณเถราปทานที่ ๒ (๒๒)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายธง

(ในช่วงแรกกล่าวถึงการจัดสร้างพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระปทุมุตรพุทธเจ้า โดยความร่วมมือร่วมใจกันสร้าง ทั้งมนุษย์ เทวดา ครุฑ กุมภัณฑ์ นาค ยักษ์ และคนธรรพ์ จนกระทั่งพระสถูปมีความสูงได้ 7 โยชน์ เทวดาจึงให้ยักษ์ตนหนึ่งชื่อ อภิสมมต เป็นผู้นำของสักการะที่มนุษย์นำมาบูชาขึ้นไปสู่พระสถูป - เนื่องจากความช่วงแรกค่อนข้างยาว จึงกล่าวเพียงย่อๆ เท่านี้: ผู้จัดทำ)

เวลานั้น เราเป็นคนยากไร้อยู่ในเมืองหงสวดี เราได้เห็นหมู่ชนเบิกบาน จึงคิดอย่างนี้ในเวลานั้นว่า เรือนพระธาตุเช่นนี้ ของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้โอฬาร ก็หมู่ชนเหล่านี้มีใจยินดีไม่รู้จักอิ่มในสักการะที่ทำอยู่ แม้เราก็จักทำสักการะแด่พระโลกนาถผู้คงที่บ้าง เราจักเป็นทายาทในธรรมของพระองค์ในอนาคต

เราจึงเอาเชือกผูกผ้าห่มของเราอันซักขาวสะอาดแล้ว คล้องไว้ที่ยอดไม้ไผ่ ยกเป็นธงขึ้นไว้ในอากาศ ยักษ์อภิสมมตจับธงของเรานำขึ้นไปในอัมพร เราเห็นธงอันลมสะบัด ได้เกิดความยินดีอย่างยิ่ง เรายังจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้นแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กราบไหว้ภิกษุนั้นแล้ว ได้สอบถามถึงผลในการถวายธง

ท่านยังความเพลิดเพลินและปีติให้เกิดแก่เรา กล่าวแก่เราว่า ท่านจักได้เสวยวิบากของธงนั้นในกาลทั้งปวง จตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า จักแวดล้อมท่านอยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง ดนตรีละ ๖ หมื่น และกลองเภรีอันประดับสวยงามจะประโคมแวดล้อมท่านเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง หญิงสาวแปดหมื่นหกพัน อันประดับงดงาม มีผ้าและอาภรณ์วิจิตร สวมใส่แก้วมณี และ กุณฑล หน้าแฉล้ม แย้มยิ้ม มีตะโพกผึ่งผาย เอวเล็ก เอวบาง จักแวดล้อม(บำเรอ) ท่านเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายธง ท่านจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้ ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านอันกุศลมูลตักเตือน เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว ประกอบด้วยบุญกรรม จักเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ท่านจักละทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ทาสและกรรมกร เป็นอันมากออกบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ท่านจักยังพระสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐให้โปรดปราณแล้ว จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดา มีชื่อว่าอุปวาณะ

กรรมที่เราทำแล้วในแสนกัลป ให้ผลแก่เราในที่นี้แล้วเราเผากิเลสของเราแล้ว ดุจกำลังลูกศรพ้นแล่งไปแล้ว เมื่อเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจักยกขึ้นโดยรอบ๓ โยชน์ทุกเมื่อ ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ในเวลานั้นด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายธง คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และแม้อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล

ทราบว่า ท่านพระอุปวาณเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ ฉะนี้แล.

จบ อุปวาณเถราปทาน.


กัปปรุกขิยเถราปทานที่ ๑๐ (๔๐)
ว่าด้วยผลแห่งการตั้งต้นกัลปพฤกษ์บูชา

[๔๒] เราได้คล้องผ้าอันวิจิตรหลายผืนไว้ตรงหน้าพระสถูปอันประเสริฐ ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ แล้วตั้งต้นกัลปพฤกษ์ไว้ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ในกำเนิดนั้นๆ ต้นกัลปพฤกษ์อันงาม ย่อมประดิษฐานอยู่ใกล้ประตูเรา เวลานั้น เราเองบริษัทเพื่อนและคนคุ้นเคย ได้ถือเอาผ้าจากต้นกัลปพฤกษ์นั้นมานุ่งห่ม ในกัลปที่ ๙๔ แต่กัลปนี้ เราได้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์ใดไว้ ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการตั้งต้นกัลปพฤกษ์ และในกัลปที่ ๗ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ องค์ ทรงพระนามว่าสุเจละ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระกัปปรุกขิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ กัปปรุกขิยเถราปทาน.


สกจิตตนิยเถราปทานที่ ๑ (๖๑)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายสถูป

[๖๓] เราได้เห็นป่าชัฏใหญ่สงัดเสียง ปราศจากอันตราย เป็นที่อยู่อาศัยของ พวกฤาษี ดังกับจะรับเครื่องบูชา เราจึงเอาไม้ไผ่มาทำเป็นสถูป แล้วเกลี่ย (โปรย) ดอกไม้ต่างๆ ได้ไหว้พระสถูป ดุจถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งยังทรงพระชนม์อยู่เฉพาะพระพักตร์

เราได้เป็นพระราชาสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในแว่นแคว้นปรารภด้วยกรรมของตน นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้ ในกัลปที่ ๙๑ แต่กัลปนี้ เราโปรยดอกไม้ใด ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่ ๘๐ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มียศอนันต์ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระสกจิตตนิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ สกจิตตนิยเถราปทาน.


นาคสมาลเถราปทานที่ ๑ (๗๑)
ว่าด้วยผลแห่งการบูชาสถูปด้วยดอกแคฝอย

[๗๓] เราถือเอาดอกแคฝอยไปบูชาที่พระสถูป ซึ่งมหาชนสร้างไว้ที่หนทางใหญ่ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขีผู้เผ่าพันธุ์ของโลก ในกัลปที่ ๓๑ แต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป ในกัลปที่ ๑๕ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ พระนามว่าปุปผิยะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเรา ได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระนาคสมาลเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ นาคสมาลเถราปทาน.


ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทานที่ ๙ (๑๑๙)
ว่าด้วยผลแห่งการทำกรรมที่ได้โดยยาก

[๑๒๑] ในลำดับกาล เมื่อพระสุคตเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสีเสด็จนิพพาน ในกาลนั้น ข้าพระองค์เข้าถึงกำเนิดยักษ์และบรรลุถึงยศ ข้าพระองค์คิดว่า ความได้ด้วยยาก แสงสว่างด้วยยาก การตั้งขึ้นยาก ได้มีแก่เราแล้วหนอ เมื่อโภคสมบัติของเรามีอยู่ พระสุคตเจ้าผู้มีพระจักษุปรินิพพานเสียแล้ว ดังนี้

พระสาวกนามว่าสาคระรู้ความดำริของข้าพระองค์ ท่านต้องการจะถอนข้าพระองค์ขึ้น จึงมาในสำนักของข้าพระองค์ กล่าวว่าจะโศกเศร้าทำไมหนอ อย่ากลัวเลย จงประพฤติธรรมเถิด ท่านผู้มีเมธาดี พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมวิทยาสมบัติของชนทั้งปวงว่า ผู้ใดพึงบูชาพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ยังดำรงพระชนม์อยู่ก็ดี พึงบูชาพระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดของพระพุทธเจ้าแม้นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตอันเลื่อมใสของผู้นั้นเสมอกัน บุญก็มีผลมากเสมอกัน เพราะฉะนั้นท่านจงทำสถูปบูชาพระธาตุของพระชินเจ้าเถิด

ข้าพระองค์ได้ฟังวาจาของท่านสาคระแล้ว ได้ทำพุทธสถูป ข้าพระองค์บำรุงพระสถูปอันอุดมของพระมุนีอยู่ ๕ ปี ข้าแต่พระองค์ผู้จอมสัตว์ เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์เสวยสมบัติแล้ว ได้บรรลุอรหัตในกัลปที่ ๗๐๐ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ พระองค์ มีพระนามว่าภูริปัญญา ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนา ข้าพระองค์ได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระปัจจุปัฏฐานสัญญกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทาน.


อธิฉัตติยเถราปทานที่ ๑ (๑๔๑)
ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยฉัตร

[๑๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้สูงสุดกว่านระ ปรินิพพานแล้ว เราให้ช่างทำฉัตรเป็นชั้นๆ บูชาไว้ที่พระสถูป ได้มานมัสการพระพุทธเจ้า ผู้เป็นนายกของโลก ตามกาลอันสมควร (และ) ได้ทำหลังคาดอกไม้บูชา (ยกขึ้น) ไว้ที่ฉัตร ใน ๑๗๐๐ กัลป เราได้เสวยเทวรัชสมบัติ ไม่ไปสู่ความเป็นมนุษย์เลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านอธิฉัตติยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ อธิฉัตติยเถราปทาน.


ถัมภาโรปกเถราปทานที่ ๒ (๑๔๒)
ว่าด้วยผลแห่งการยกเสาธง

[๑๔๔] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าธรรมทัสสี ผู้ประเสริฐกว่านระ นิพพานแล้ว เราได้ยกเสาธงขึ้นไว้ที่เจดีย์ แห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ให้นายช่างสร้างบันไดสำหรับประชาชน จะได้ขึ้นสู่สถูปอันประเสริฐ แล้วถือเอา
ดอกมะลิไปโปรยบูชาที่พระสถูป
โอ พระพุทธเจ้า โอ พระธรรม โอ ความถึงพร้อมแห่งพระศาสดาหนอ เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป ในกัลปที่ ๙๔ แต่กัลปนี้ได้ มีพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑๖ พระองค์ ทรงพระนามว่า ถูปสิขะ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระถัมภาโรปกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ถัมภาโรปกเถราปทาน


สปริวาริยเถราปทานที่ ๔ (๑๔๔)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายไพรทีไม้จันทน์

[๑๔๖] พระชินสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระเชษฐบุรุษของโลก ผู้ประเสริฐกว่านระ รุ่งเรืองดังกองอัคคี ปรินิพพานแล้ว เมื่อพระมหาวีรเจ้านิพพานแล้วได้มีสถูปอันกว้างใหญ่ ชนทั้งหลาย เอาสิ่งของอันจะพึงถวายเข้าไปตั้งไว้ที่สถูป ในห้องพระธาตุอันประเสริฐสุด

ในกาลนั้น เรามีจิตเลื่อมใสมีใจโสมนัสได้ทำไพรที่ไม้จันทน์อันหนึ่ง อันสมบูรณ์แก่สถูปและถวายธูปและของหอม ในภพที่เราเกิด คือ ในความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ เราไม่เห็นความที่เราเป็นผู้ต่ำทรามเลย นี้เป็นผลแห่งบุญกรรมในกัลปที่ ๑๕๐๐ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ พระองค์ ทรงพระนามว่า สมัตตะ ทุกพระองค์ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระสปริวาริยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ สปริวาริยเถราปทาน.


อุมมาปุปผิยเถราปทานที่ ๕ (๑๔๕)
ว่าด้วยผลแห่งการบูชาดอกผักตบ

[๑๔๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ทรงเกื้อกูลแก่โลก สมควรรับเครื่องรับบูชา นิพพานแล้ว ได้มีการฉลองพระสถูปอย่างมโหฬาร เมื่อการฉลองพระสถูปแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เป็นไปอยู่ เราเอาดอกผักตบไปบูชาที่พระสถูป ในกัลปที่ ๙๔ แต่กัลปนี้ เราบูชาพระสถูปด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูปด้วยดอกไม้ ในกัลปที่ ๙ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๕ พระองค์ ทรงพระนามเหมือนกันว่า โสมเทวะ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระอุปมาปุปผิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ อุมมาปุปผิยเถราปทาน.


ปุนนาคปุปผิยเถราปทานที่ ๙ (๑๕๙)
ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยดอกบุนนาค

[๑๖๑] เราเป็นนายพรานเข้าไปสู่ป่าใหญ่ ได้เห็นดอกบุนนาคกำลังบาน จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ได้เก็บเอาดอกบุนนาคนั้นอันมีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลแล้ว ได้ก่อสถูปที่กองทรายบูชาแด่พระพุทธเจ้า ในกัลปที่ ๙๒ แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่ ๙๑ แต่กัลปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่ง มีนามว่าตโมนุทะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระปุนนาคปุปผิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน.
(เนื้อความเดียวกับ
ปุนนาคปุปผิยเถราปทานที่ ๓ (๓๓๓)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกบุนนาค)


ขัณฑผุลลิยเถราปทานที่ ๓ (๑๙๓)
ว่าด้วยผลแห่งการทำที่ขรุขระให้เรียบ

[๑๙๕] พระสถูปของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าผุสสะ มีอยู่ที่ป่ามหาวัน ในกาลนั้น ต้นไม้งอกขึ้น ณ ที่นั้น ฝูงช้างพากันมาหักกิน เราได้ทำที่ขรุขระให้ราบเรียบ แล้วได้ใส่ก้อนปูนขาว เรายินดีด้วยคุณของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นที่เคารพของโลก ๓ ในกัลปที่ ๙๒ แต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใด ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการใส่ก้อนปูนขาว ในกัลปที่ ๗๗ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ พระองค์ ทรงพระนามว่าชิตเสนะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระขัณฑผุลลิยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ขัณฑผุลลิยเถราปทาน


ชคติการกเถราปทานที่ ๙ (๒๓๙)
ว่าด้วยผลแห่งการสร้างลานดิน

[๒๔๑] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้สูงสุดกว่านระ เสด็จนิพพานแล้ว เราได้ให้สร้างลานดินไว้ที่พระสถูปอันอุดมของพระพุทธเจ้า ในกัลปที่ ๑,๘๐๐ แต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสร้างลานดิน คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระชคติการกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ชคติการกเถราปทาน.


ธาตุปูชกเถราปทานที่ ๗ (๒๔๗)
ว่าด้วยผลแห่งการบำรุงพระธาตุ

[๒๔๙] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้สูงสุดกว่านระ เสด็จนิพพานแล้ว เราได้พระธาตุองค์หนึ่ง ของพระผู้มีพระภาคจอมสัตว์ ผู้คงที่ เราเก็บพระธาตุของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธ์พระอาทิตย์นั้นไว้บูชาตลอด ๕ ปี ดังพระองค์ผู้สูงสุดกว่านระยังดำรงอยู่ ในกัลปที่ ๙๔ แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระธาตุใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลเพราะบำรุงพระธาตุ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระธาตุปูชกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ธาตุปูชกเถราปทาน.
(ความเดียวกันกับ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค2 พุทธวงศ์ - จริยาปิฎก
ธาตุปูชกเถราปทานที่ ๖)


ปภังกรเถราปทานที่ ๖ (๓๓๖)
ว่าด้วยผลแห่งการชำระพระสถูป

[๓๓๘] พระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ มีอยู่ในป่าชัฏ อันเกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย ใครๆ ไม่อาจจะไปเพื่อกราบไหว้พระเจดีย์ พระเจดีย์อันหญ้า ต้นไม้ และเถาวัลย์ปกคลุม หักพัง ในกาลนั้น เราเป็นคนทำการงานในป่า ด้วยการงานของบิดาและปู่ เราได้เห็นพระสถูปอันหักพัง หญ้าและเถาวัลย์ปกคลุมในป่าใหญ่

ครั้นได้เห็นพระสถูปแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว ตั้งจิตเคารพไว้ว่า พระสถูปนี้แห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด หักพังอยู่ในป่า พระสถูปไม่มีอะไรบังแดดฝน ไม่สมควรแก่คนที่รู้คุณและมิใช่คุณ เราได้แผ้วถางพระสถูปแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว จึงจะประกอบการงานอื่น ครั้นเราแผ้วถางหญ้าต้นไม้และเถาวัลย์ที่พระเจดีย์ไหว้นบครบ ๘ ครั้ง แล้ว กลับไปยังที่อยู่ของตนด้วยกรรมที่เราทำดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนามั่น

เราละกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ชั้นดาวดึงส์ วิมานทองอันบุญกรรมทำไว้ในชั้นดาวดึงส์นั้น สวยงามเลื่อมประภัสสร สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์ เราได้เสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๓๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ครั้ง เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ ย่อมได้โภคสมบัติมาก ความพร่องในโภคสมบัติไม่มีแก่เราเลย นี้เป็นผลแห่งการแผ้วทาง เมื่อเราไปในป่าใหญ่ด้วยคานหามหรือด้วยคอช้าง เราไปสู่ทิศใดๆ ในทิศนั้นๆ ป่า ย่อมสำเร็จเป็นที่พึ่ง เราไม่เห็นตอหรือแม้หนามด้วยจักษุเลย เราประกอบด้วยบุญกรรม บุญกรรมย่อมนำปราศไปเอง โรคเรื้อน ฝี กลาก โรคลมบ้าหมู คุดทะราด หิดเปื่อย และหิดด้าน ไม่มีแก่เรา นี้เป็นผลแห่งการแผ้วถาง เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า

ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก เราไม่รู้สึกว่า ต่อมฝีมีหยาดน้ำเหลืองเกิดในกายของเราเลย เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก เราได้ท่องเที่ยวอยู่ในภพ ๒ ภพ คือ ในความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก เราเป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ เป็นผู้มีรัศมีในที่ทั้งปวง เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก สิ่งที่ไม่ชอบใจไม่มี สิ่งที่ชอบใจเข้ามาตั้งไว้ เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก จิตของเราเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ มีอารมณ์เดียวตั้งมั่นด้วยดี เพราะเราแผ้วถางที่พระสถูปพระพุทธเจ้า ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก เรานั่งบนอาสนะเดียว ได้บรรลุอรหัต ในกัลปที่แสนแต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใด ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการแผ้วถาง คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระปภังกรเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ ปภังกรเถราปทาน.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปธาน ภาค 2

(๑๔๐.๔) กิมิลเถราปทานที่ ๔
ว่าด้วยบุพจริยาของพระกิมิลเถระ

เมื่อพระพุทธเจ้า พระนามว่า กกุสันธ ปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าได้เก็บเอาดอกเข็มมาทำเป็นมณฑปบรรจุพระธาตุ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงมีวสี. ครั้นจุติแล้ว ไปสู่ภพดาวดึงส์ ได้วิมานสูงใหญ่เป็นพิเศษรุ่งโรจน์ล่วงวิมานของเทวดาเหล่าอื่น นี้เป็นผลแห่งกรรมอันเป็นบุญ. จะเป็นกลางวัน หรือกลางคืนก็ดี ข้าพเจ้า จะเดินอยู่ หรือยืนอยู่ก็ดี ดอกเข็มจะต้องมาครอบคลุมอยู่เบื้องบน นี้เป็นผลแห่งกรรมอันเป็นบุญ. ในกัปนี้นี่แหละ ข้าพเจ้าได้บูชาอย่างยิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ด้วยกรรมนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า. กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เผาสิ้นแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่. ข้าพเจ้าได้มาดีแล้วแล ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้ว.

ทราบว่า ท่านพระกิมิลเถระ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ไว้ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ กิมิลเถราปทาน


อภิรูปนันทาเถริยาปทานที่ ๖
ว่าด้วยบุพจริยาของพระอภิรูปนันทาเถรี

[๑๗๖] ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่าปัสสี มีพระเนตรงาม มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ดิฉันเกิดในสกุลใหญ่ที่มั่งคั่งเจริญ ในพระนครพันธุมดี เป็นหญิงมีรูปงาม น่าพึงใจและเป็นที่บูชาของประชุมชน ได้เข้าเฝ้าพระพุทธวิปัสสีผู้มีความเพียรมาก เป็นนายกของโลก ได้ฟังธรรมแล้วถึงพระองค์เป็นสรณะ สำรวมอยู่ในศีล

เมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้มีพระคุณสูงสุดกว่านรชนปรินิพพานแล้ว ดิฉันได้เอาฉัตรทองบูชาไว้ ณ เบื้องบนแห่งพระสถูปที่บรรจุพระธาตุ ดิฉันเป็นผู้มีจาคะอันสละแล้ว มีศีลจนตลอดชีวิต เคลื่อนจากอัตภาพนั้น ละร่างกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ ครั้งนั้น ดิฉันครอบงำเทพธิดาทั้งหมดด้วยฐานะ ๑๐ ประการ คือ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อายุ วรรณะ สุข ยศ และความเป็นอธิบดี รุ่งโรจน์ปรากฏอยู่

ในภพหลังครั้งนี้ ดิฉันเกิดในพระนครกบิลพัสดุ์เป็นธิดาของศากยราชนามว่าเขมกะ มีนามปรากฏว่านันทา ประชุมชนกล่าวว่า ดิฉันเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีความถึงพร้อมด้วยรูปงามน่าชม เมื่อดิฉันเติบโตเป็นสาว (รู้จัก) ตกแต่งรูปและผิวพรรณ พวกศากยราชมีความวิวาทกันมากเพราะตัวดิฉัน ครั้งนั้น พระบิดาของดิฉันกล่าวว่า พวกศากยราชอย่าฉิบหายเสียเลย จึงให้ดิฉันบวชเสีย ครั้นดิฉันบวชแล้วได้ฟังว่า พระตถาคตเจ้าผู้มีพระคุณสูงสุดกว่านรชน ทรงติรูป จึงไม่เข้าไปเฝ้า เพราะดิฉันชอบรูปกลัวจะพบพระพุทธเจ้า จึงไม่ไปรับโอวาท

ครั้งนั้น พระพิชิตมารทรงให้ดิฉันเข้าไปสู่สำนักของพระองค์ด้วยอุบาย พระองค์ทรงฉลาดในทางอุบาย ทรงแสดงหญิง ๓ ชนิด ด้วยฤทธิ์ คือ หญิงสาวสวยเหมือนรูปเทพอัปสร หญิงแก่ หญิงตายแล้ว ดิฉันเห็นหญิงทั้ง ๓ แล้ว มีความสลดใจ ไม่ยินดีในซากศพหญิงที่ตายแล้ว มีความเบื่อหน่ายในภพเฉยอยู่ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคนายกของโลกตรัสกะดิฉันว่า ดูกรนักทาท่านจงดูร่างกายที่ทุรนทุราย ไม่สะอาด โสโครก ไหลเข้าถ่ายออกอยู่ ที่พวกพลาชนปรารถนากัน ท่านจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์อย่างเดียวด้วยอสุภเถิด รูปนี้เป็นฉันใด รูปท่านนั้นก็เป็นฉันนั้น รูปท่านนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น เมื่อท่านพิจารณาเห็นรูปนั้น อย่างนี้ มิได้เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน แต่นั้นก็จะเบื่อหน่ายอยู่ด้วยปัญญาของตน ดิฉันผู้ไม่ประมาท พิจารณาในร่างกายนี้อยู่โดยแยบคาย ก็เห็นกายนี้ทั้งกายในภายนอกตามความเป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ดิฉันจึงเบื่อหน่ายในกาย และไม่ยินดีเป็นภายใน ไม่ประมาท ไม่เกาะเกี่ยว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ รู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ หม่อมฉันสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันมีญาณในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ ดิฉันเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนา ดิฉันได้ทำเสร็จแล้ว.

ทราบว่า ท่านพระอภิรูปนันทาภิกษุณีได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบอภิรูปนันทาเถริยาปทาน.

next>>>

พระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุพระพุทธสาวก
พุทธบูชา 2542 - 2554 @ http://www.relicsofbuddha.com